ป.ล. ตอนนี้ภาพจะเยอะสักหน่อย
Action Center
เป็นชื่อใหม่ของ Security Center เปลี่ยนชื่อเพราะว่าเพื่อจะได้รวมปัญหาอื่นๆ นอกเหนือไปจากด้านความปลอดภัยด้วย เช่น มีโปรแกรมแครช หรือมีอัพเดต ลักษณะการใช้งานก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจาก Vista
งานทั้งหมดของ Action Center ก็ดูได้จากหน้าตั้งค่า มีทั้งหมวด Security และ Maintenance
Windows 7 จะแสดงไอคอนงานหรือ action ใน System Tray ให้เราเห็นด้วยว่า จะต้องทำอะไรกับระบบเพิ่มเติมบ้าง
Windows 7 นั้นเหมือนกับ Vista คือมี Windows Defender กับ Firewall มาให้ในตัวแล้ว ขาดแต่โปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่ต้องหามาเพิ่มเอง โดยใน Action Center มีปุ่มแนะนำโปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่ไมโครซอฟท์เป็นพาร์ทเนอร์กันอยู่ เมื่อกดแล้วจะเข้าไปยังเว็บไซต์ของ Windows 7
ในตอนนี้ยังมีเฉพาะของ Norton, AVG และ Kaspersky ซึ่งเมื่อกดที่ไอคอนก็จะเข้าไปยังเว็บไซต์ของแต่ละบริษัทอีกทีหนึ่ง (ผมลองติดตั้ง Norton 360 Beta ปรากฎว่าช้ามากจนต้องรีบเอาออก)
Windows Explorer
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดแต่แรกของ Windows Explorer นั้นคือสีของทูลบาร์ไม่หลุดโลกแบบ Vista อีกแล้ว ถูกปรับให้เข้ากับส่วนอื่นๆ ของ Windows 7 มากขึ้น
ปุ่มเลือกมุมมองของโฟลเดอร์ (view) และปุ่มแสดง thumbnail ถูกย้ายจากขอบด้านซ้ายใน Vista มาไว้ด้านขวามือ
ใน Windows 7 เพิ่มมุมมองใหม่เข้ามาหนึ่งชนิด คือแบบ Content ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Details และ Tiles เดิม มีทั้งภาพ thumbnail และรายละเอียดของไฟล์
ใน Windows 7 จึงมีมุมมองของไฟล์ใน Explorer ทั้งหมด 8 แบบ ตามภาพ
หน้าตาของ Explorer แบบมี preview
ของใหม่ที่สำคัญใน Explorer คือแนวคิด Library หรือ virtual folder แยกตามชนิดของไฟล์ (ตอนนี้มี 4 ประเภทคือ เอกสาร, หนัง, เพลง และรูปภาพ)
Library เป็นสถานที่ใหม่ที่มีศักดิ์ฐานะเทียบเท่ากับ My Computer หรือ Home Folder แถมถูกแสดงให้เห็นใน sidebar ด้านข้างด้วย
จากภาพจะเห็นว่าแนวคิด folder tree แบบเดิมถูกขจัดออกไปเรื่อยๆ ในวินโดวส์ทุกเวอร์ชัน กลายเป็นแนวคิดเรื่อง place หรือสถานที่เก็บไฟล์โดยแยกตามกรณีการใช้งานแทน ถ้าใครยังจำฟีเจอร์ WinFS ซึ่งเดิมทีเคยถูกวางเป้าไว้ใน Vista แต่ถูกถอดออกไปในภายหลังได้ ผมคิดว่ามันจะเป็นแนวคิดในลักษณะคล้ายๆ กัน (แต่ใน Windows 7 ยังเป็นลูกผสมของโฟลเดอร์แบบ hierarchy กับโฟลเดอร์เสมือนอยู่ ส่วน WinFS นั้นเป็นการค้นหาไฟล์จาก metadata ทั้งหมด)
ถ้าเราเลือกโฟลเดอร์อันใดอันหนึ่งใน Library ส่วนแถบด้านบนของ Explorer จะแสดงข้อมูลให้เราเห็นว่า ไฟล์ที่ถูกนำมาแสดงนี้ มาจากที่ไหนบ้าง
สำหรับ Pictures ค่าตั้งต้นคือมาจากโฟลเดอร์ My Pictures (ซึ่งไดเรคทอรีจริงเปลี่ยนชื่อเป็น Pictures เฉยๆ ไม่มี My แล้ว) และโฟลเดอร์ Public Pictures แต่เราก็สามารถเพิ่มโฟลเดอร์เก็บภาพของเราเองได้เช่นกัน
ในหน้าของอุปกรณ์ต่อพ่วงถูกเน้นมากขึ้น บริษัทฮาร์ดแวร์สามารถแสดงหน้าจัดการเฉพาะของอุปกรณ์ที่เรียกว่า Device Stage ได้ (ยังมีอุปกรณ์ที่สนับสนุนฟีเจอร์นี้น้อยมาก - รายชื่อบนเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์) เนื่องจากผมไม่มีอุปกรณ์สำหรับทดสอบ เรื่องของ Device Stage ก็ต้องรบกวนไปอ่านกันจาก Ars Technica หรือ Neowin กันแทน
ในภาพนี้สังเกตว่ามี XPS Printer เข้ามา ซึ่งแสดงถึงการทุ่มตัวผลักดันฟอร์แมต XPS ของไมโครซอฟท์ที่มาแข่งกับ PDF (ข่าวเก่า: Office 12 สนับสนุน XPS แล้ว)
Control Panel
ดำเนินตามรอยของ Vista แถมยุ่งกว่าเดิมอีกสักเล็กน้อย ถ้าใครชอบแบบเก่าของ XP ก็คงไม่ถูกใจสักเท่าไร
หน้าจอปรับแต่งอันใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เลือกธีมเป็นชุดแทนการเลือกเปลี่ยนเฉพาะภาพพื้นหลังหรือกรอบหน้าต่างแบบเดิม (แต่ก็ยังเลือกแต่ละอันแยกกันได้ เหมือนกับ Appearance ของ GNOME) สามารถดาวน์โหลดธีมเพิ่มเติมได้จากหน้าเว็บของไมโครซอฟท์
หน้าจอ System แสดงข้อมูลของระบบ
ลองสั่งปิดเอฟเฟคต์ทั้งหมด สังเกตตรง Taskbar จะเห็นปุ่มซ้อนกันถูกแสดงตรงไอคอน Windows Explorer แปลกไปอีกแบบ
โปรแกรมที่มากับ Windows
เนื่องจากผมไม่ค่อยชัวร์นักว่ามีโปรแกรมไหนบ้างอยู่ใน Vista แล้ว โปรแกรมไหนบ้างเพิ่มเข้ามาใน Windows 7 ก็ขอพูดถึงเท่าที่นึกออก ตามภาพจะมี Windows PowerShell ซึ่งเป็น command line ของไมโครซอฟท์ (เทียบได้กับพวก bash ในลินุกซ์) เพิ่มเข้ามาในหมวด Accessories จากเดิมที่มีให้ดาวน์โหลดแยกบน Vista
ตามข่าวเก่าที่เคยออกมาแล้ว WordPad กับ Paint ถูกเปลี่ยนให้เป็น Ribbon
อีกจุดที่น่าสนใจคือในหน้า About ของโปรแกรมแต่ละตัว จะใช้เลขเวอร์ชันของระบบเป็น 6.1 (Vista คือ 6.0) ถึงแม้ว่าแบรนด์จะใช้เป็น 7 ก็ตาม
ในตอนที่แล้วมีคนถามเรื่องเกม ผมตอบเป็นภาพหน้าจอละกันนะครับ คล้ายๆ กับของ Vista แต่ว่าจัดส่วนของเรตติ้ง คะแนนและสถิติแยกให้เป็นหมวดหมู่มากขึ้น
Gadgets ไม่ต้องใช้ Sidebar อีกแล้ว วางไว้ตรงไหนก็ได้ แต่อย่างอื่นก็ยังไม่มีอะไรใหม่เข้ามา
Windows Live Essential
จากที่เขียนไว้ในตอนที่แล้วว่า ไมโครซอฟท์ตัดโปรแกรมหลายๆ ตัวที่เคยแถมมาใน Vista ออก แล้วรีแบรนด์ใหม่เป็นโปรแกรมในตระกูล Windows Live แทน โดยต้องแยกดาวน์โหลดต่างหากใต้ชื่อแบรนด์ว่า Windows Live Essential (ข่าวเก่า) ซึ่งผู้ใช้ Vista และ XP ก็สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ ไม่จำกัดเฉพาะ Windows 7 แต่อย่างเดียว
โปรแกรมในชุด Windows Live Essential ก็มีดังภาพ ผมคงไม่ลงในรายละเอียดเพราะมันจะกลายเป็นรีวิว Windows Live Essential ไปแทน
Windows Live Essential เป็นเหมือนส่วนเติมเต็มของ Windows 7 ในลักษณะเดียวกับ iLife ของแอปเปิล แต่วิธีการจัดชุดของไมโครซอฟท์จะแปลกๆ เล็กน้อย เพราะ Photo Gallery กับ Movie Maker ต้องดาวน์โหลดต่างหาก แต่ DVD Maker มากับตัวระบบปฏิบัติการเลย
กลยุทธ์การใช้ Windows Live Essential ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไมโครซอฟท์ถูกบีบจากหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลกใน ข้อหาผูกขาด ผู้ใช้เองก็ได้ประโยชน์คือสามารถเลือกใช้บริการออนไลน์ตามที่ตัวเองต้องการ ได้ ไม่จำเป็นต้องผูกกับ Windows Live ส่วนอีกประเด็นคือการปรับทัพของไมโครซอฟท์เองให้มาเน้นในฝั่ง Windows Live มากขึ้น
การเชื่อมประสานกับออนไลน์
อย่างไรก็ตามส่วนที่ผมคิดว่าไมโครซอฟท์ยังทำได้ไม่ค่อยดีคือการเชื่อมประสาน กัน ระหว่างฝั่ง Windows ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของเรา กับ Windows Live ที่อยู่บนเว็บ
สิ่งที่ผมสังเกตว่ามีเยอะเป็นพิเศษใน Windows 7 คือลิงก์สำหรับดาวน์โหลดส่วนประกอบ (ไม่ว่าจะใช้คำว่า Plug-in, Add-on, Personalize หรือ Extension) ที่มีคนทำไว้แจกจากบนเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์
ปัญหาคือแต่ละโปรแกรมก็มีหน้าเว็บสำหรับดาวน์โหลดของตัวเอง (อยู่บนโดเมนของไมโครซอฟท์ทั้งหมดนั่นล่ะ) แถมไม่มีวิธีมาตรฐานสำหรับการติดตั้งส่วนประกอบเพิ่มเติม บางอย่างมาเป็น .exe ต้องติดตั้งเองเหมือนโปรแกรมปกติ ในขณะที่บางอย่างใช้ได้เลยทันที
IE8 Add-ons ซึ่งประกอบด้วย Webslice, Accelerator, Search Plugin, Toolbar อยู่บน ieaddons.com
ธีม (ไมโครซอฟท์ใช้คำว่า Personalize) อยู่บน windows.microsoft.com
พวกชุดแต่งของ Windows Live Messenger (แต่ดันรวมเอา Sidebar Gadgets และ SideShow) อยู่บน Windows Live Gallery (gallery.live.com)
อันนี้ฮาร์ดคอร์มาก :D ปลั๊กอินของ Windows Live Photo Gallery สำหรับ export รูปไปยังบริการออนไลน์ต่างๆ เช่น Picasa, Facebook (ของ Flickr รวมมาให้แล้ว) นั้นอยู่บนบล็อกของทีมพัฒนา (blogs.msdn.com) อนาคตคงเป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้
Windows Marketplace ซึ่งเป็นไอคอนอยู่ใน Start Menu เอาไว้ขายโปรแกรมที่ใช้บน Windows
และยังมีหน้ารวมโปรแกรมแอนตี้ไวรัสที่เข้าได้จากหน้า Action Center ตามที่เขียนไปแล้ว
ถ้าเทียบกับโปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลดส่วนเสริมได้โดยตรงจากหน้าเว็บอย่าง Firefox หรือโปรแกรมอย่าง Adobe AIR ที่ติดตั้งได้จากหน้าเว็บโดยตรง ก็ต้องบอกว่า Windows 7 ยังตามอยู่อีกมากในแง่ประสบการณ์การใช้งาน
เสถียรภาพและปัญหาในการใช้งาน
ผมเจอบั๊กภาษาไทยของ IE8 ดังภาพครับ (Firefox บน Windows 7 ไม่เป็น)
เผอิญว่าผม ไม่ถนัดกับหน้าตาของ IE8 เลยไม่ได้ทดสอบอย่างจริงจังนัก แต่ก็รู้สึกได้ว่า IE8 ยังช้าและทำงานได้ไม่สมบูรณ์เท่าไร เมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ของ Windows 7
UAC นั้นหายไปเยอะเมื่อเทียบกับ Vista ส่วนใหญ่จะเจอตอนดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมใหม่เท่านั้น
ส่วนตัว Windows 7 ทั่วไปนั้นถือว่าเสถียรมาก แต่หลังจากลง Norton 360 (ตามที่มีลิงก์ให้โหลด) ก็เจอปัญหาอยู่พอสมควรคือเมื่อสั่งปิด Firefox กับ IE8 แล้วไม่สามารถเปิดขึ้นมาใหม่ได้ (ผมคาดว่าเป็นปัญหาของทูลบาร์หรือปลั๊กอินของ Norton ที่ใช้กับเบราว์เซอร์ แต่ยังไม่มีเวลาทดสอบว่าปัญหาเกิดจากอะไรกันแน่)
สรุป
โดย รวมๆ แล้วผมรู้สึกว่า Windows 7 เป็น Vista ที่ "ทำเสร็จ" ครับ คือพอมาใช้เทียบกันแล้วจะเห็นชัดว่าเป้าหมายของ Vista นั้นตั้งใจจะเป็นแบบ 7 นี่ล่ะ ถ้า Windows 7 เสร็จสมบูรณ์ คนที่จดๆ จ้องๆ รอเปลี่ยนจาก XP ก็คงหันมาใช้ Windows 7 มากกว่า Vista มาก
ผมคิดว่าไมโครซอฟท์คงไม่ ปรับเปลี่ยน Windows 7 ไปจากนี้อีกมากเท่าไรนัก จะว่าไปถ้าเทียบกับ XP-Vista แล้ว Windows 7 มีส่วนที่เปลี่ยนแปลงจาก Vista น้อยมาก รากฐานต่างๆ นั้นถูกวางไว้ใน Vista หมดแล้ว Windows 7 แค่นำมาพัฒนาต่อให้ดีขึ้นเท่านั้น ผมคิดว่า Windows 7 ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่ไมโครซอฟท์ควรรีบปรับปรุงคือ Windows Live และการเชื่อมต่อกับ Windows Live ที่ยังไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้มากเท่าไรนัก
คำ ถามถัดไปก็คือ Windows 7 จะออกเมื่อไร ตามปกติไมโครซอฟท์จะออกเบต้าเพียงรุ่นเดียว จากนั้นเข้าสู่สถานะ Release Candidate (RC) และ Release to Manufacturer (RTM) ต่อไป เพียงแต่ว่าแต่ละช่วงของไมโครซอฟท์จะค่อนข้างนานกว่าซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ
สื่อฝรั่งคาดเดากันว่า RC น่าจะมาในช่วงกลางปี และตัวจริงจะออกมาในช่วงปลายปี 2009 ครับ
หมายเหตุการรีวิว
ส่วนที่ไม่ได้ทดสอบ
- IE8
- Windows Media Player 12
- Windows Media Center
- ฟีเจอร์ด้าน Homegroup
- ฟีเจอร์ด้าน Tablet PC
- ความเข้ากันได้กับโปรแกรมต่างๆ ที่เคยทำงานได้ใน XP/Vista
รีวิว Windows 7 Beta ของฝรั่งที่น่าอ่าน (สารภาพว่าผมก็ได้อิทธิพลมาจากรีวิวสองอันนี้เป็นหลัก)
No comments:
Post a Comment